หน้าเว็บ

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ตำนานพยานาค ปู่อือลือ ที่บึงโขงหลง

ประวัติความเป็นมา ปู่อือลือ พญานาคประจำ บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ (มนุษย์ได้นาคเป็นเมีย)
ชนบทอันห่างไกล ไม่แน่ใจนักว่าเป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกลจากตัวจังหวัดมากที่สุดในประเทศไทยหรือเปล่า บึงโขงหลง เป็นอำเภอในสังกัด จ.หนองคาย ผมเติบโตที่นั่น แม้ว่าจะเกิดคนละหมู่บ้านกัน ช่วงวัยเรียนพ่อแม่ได้ย้ายเข้ามาทำมาหากินในตัว บึงโขงหลง ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นตำบลอยู่เลย บึงโขงหลงเองมีบึงขนาดใหญ่เป็นบึงชุ่มน้ำ มีนำตลอดปีไม่เคยแห้งเลย ซึ่งที่แห่งนี้เรียกได้ว่าเป็นซุปเปอร์มาเก็ตของคนที่นี่เลย





ด้วยความอุดมสมบูรณ์และความกว้างใหญ่ของบึงแห่งนี่ มีเรื่องเล่าว่า ทุกๆหน้าฝนหรือหน้าน้ำหลาก จะมีผู้คนเสียชีวิตทุกๆปี หรือบางครั้งก็ล่วงเลยมาถึงช่วงสงกรานต์ก็มี ผู้เฒ่าผู้แก่ บอกว่ามีเจ้าพ่อ"อือลือ"สิงสถิตอยู่ ณ บึงแห่งนี้ ว่ากันว่าเป็นเจ้าพ่อพญานาค จะต้องมารับเอาบริวารไปเป็นข้ารับใช้ทุกปี บางปีก็เป็นผู้ชายล้วน บางปีหญิงล้วน บางปีก็เป็นเด็กๆก็มี ซึ่งที่ผ่านมาเท็จจริงอย่างไรผมก็ไม่ทราบ แต่ผมก็เชื่อมาอย่างนั้น
 ไม่มีใครใส่ใจหรือสนใจหาสาเหตุการตายที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร แต่ที่ได้ยินก็จะเป็นการเสริมแต่ง ใส่สีให้น่ากลัวและน่าเกรงขามขึ้นไปอีก เช่น จังหวะที่คนจมน้ำนั้นมีเพื่อนเข้าไปช่วย แต่ไม่สามารถดึงขึ้นมาจากน้ำได้ ทั้งๆที่คว้าแขนได้แล้ว และบอกว่าคนที่ตายนั้นไม่เหลือเลือดในร่างกายเลย และบางครั้ง บริเวณที่จมน้ำลงไปนั้น หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ ต้องบนบานเจ้าพ่อขอศพคืนเพื่อทำพิธี จึงได้หาเจอ

  และทุกๆปีจะมีการจัดแข่งเรือยาวเป็นการบวงสรวงเจ้าพ่อ"อือลือ" เพื่อให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ไม่รู้ว่าเกิดจากการบวงสรวงหรือเพราะว่าพื้นที่บึงแห่งนี้อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว หรือเพราะการจัดการ การใช้สอยประโยชน์ของพื้นที่อย่างดีกันแน่ ช่วงที่เป็นหน้าหาปลาใหญ่จะเป็นช่วงที่เลยฤดูการวางไข่ของปลาไปแล้ว จะมีการลงเรือลงข่ายดักปลากัน และจะจับปลาได้ตัวโตๆทั้งนั้นอย่างเช่น ปลายี่สกตัวๆหนึ่งก็ราวๆ ๕-๑๐ กิโลกรัมต่อตัวทีเดียว



บึงโขงหลง อยู่ใน อ.บึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ เป็นบึงขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของเมือง บึงกาฬ มีพื้นที่ประมาณ 11 ตารางกิโลเมตร ชาวบึงโขงหลงใช้บึงนี้เพื่อประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ประมง กสิกรรม

ตำนาน บึงโขงหลง
บริเวณ แห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งเมือง ๆ เมืองชื่อ รัตพานคร มี พระอือลือราชา เป็นผู้ครองนคร มเหสีชื่อ นางแก้วกัลยา มีพระธิดาชื่อ พระนางเขียวคำ ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสามพันตา มีพระโอรสชื่อ เจ้าชายฟ้ารุ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้ และมีรูปงามด้วย ขณะประสูตมีท้องฟ้าสว่างไสว ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับ นาครินทรานี ซึ่งเป็นพระธิดาของพญานาคราชแห่งเมืองบาดาล ที่แปลงกายเป็นมนุษย์ การอภิเษกสมรสจัดกันอย่างมโหฬาร ทั้งเมืองบาดาล และเมืองมนุษย์ (รัตพานคร) ทำอยู่ 7 วัน 7 คืน เพื่อเป็นการสัมพันธไมตรีระหว่างพญานาคราช กับ พระเจ้าอือลือราชา ในโอกาสนี้ด้วย

ทั้งสองอยู่กินกันมาเป็นเวลา 3 ปี ก็ไม่สามารถจะมีผู้สืบสายสกุลได้ (เพราะธาตุมนุษย์กับนาค) จึงทำให้เกิดความเศร้าโศกใจกับคนทั้งสอง ต่อมาทำให้เจ้าหญิงนาครินทรานี ล้มป่วยลง ทำให้ร่างกายของนางที่เป็นมนุษย์กลายเป็นนาคตามเดิม เมื่อข่าวนี้ได้แพร่สะบัดออกไปทั่วกรุงรัตพานคร และถึงแม้นางจะร่ายมนต์กลับเป็นมนุษย์ประชาชนและพระเจ้าอือลือก็ไม่พอใจ จึงได้ขับไล่นางนาครินทรานีกลับสู่เมืองบาดาลดังเดิม โดยได้แจ้งให้พญานาคราชมารับตัวกลับ ก่อนกลับพญานาคราช ได้ขอเครื่องกฎภัณฑ์ของตระกูลคืน แต่พระเจ้าอือลือราชาไม่สามารถคืนให้ได้ เนื่องจากนำไปแปรสภาพเป็นอย่างอื่น ทำให้พญานาคราชกริ้วมาก และประกาศว่าจะทำลายเมืองรัตพานคร และจะเหลือเอาไว้เพียง 3 วัดเท่านั้น

หลัง จากพญานาคกลับไป ในตอนกลางคืน พญานาคราชได้ยกพลไพร่มาถล่มเมืองรัตพานคร และประชาชนก็ไม่มีใครรอดพ้นจากฤทธิ์นาคได้ พอนางนาครินทรานีทราบข่าว ก็ขึ้นมาตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่ง จนถึงแม่น้ำสงครามก็ไม่พบ จึงกลับเมืองบาดาล เมืองรัตพานครได้ถล่มเป็น "บึงหลงของ" ต่อมานานเข้าคำพูดก็กลายเป็นของหลง และวัดที่เหลือ 3 วัด ก็คือ วัดดอนแก้ว (วัดแก้วฟ้า) วันดอนโพธิ์ (วัดโพธิ์สัตว์) และ วัดดอนสวรรค์ (วัดแดนสวรรค์) ทางที่นางนาครินทรานีตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่ง คือ ห้วยน้ำเมา (เมารัก)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น